Skip to main content

คิดต่างอย่างป้าชู ตอน 145 นิทรรศการ วิจิตราภรณ์ ep. 2

ทางเชื่อมระหว่าง ห้อง 1 และ ห้อง 2 นั้น มีเศียรโขน เหล่าวานรชื่อดัง อยู่ด้านซ้าย  ส่วนหน้านั้นมีองค์พิฆเนศและพญาครุฑ งานศิลป์จากครูวัฒนา แก้วดวงใหญ่ บุตรีของครูชิต แก้วดวงใหญ่ ปรมาจารย์ช่างทำหัวโขนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในบริเวณนี้ สำหรับป้าชูแล้ว ถือเป็นจุดปราบเซียน เนื่องจากแสงบริเวณนี้ถ้าบริหารจัดการไม่ดีโอกาสสร้างภาพสวยจะยากมาก

แต่ที่สำคัญกว่าแสงก็คือ การถ่ายทอดอารมณ์ภาพออกมาตามผู้สร้างเศียรให้ได้มากที่สุด

นั่นคือการตีความของเรานั่นเอง ถ้าตีความผิด ชีวิตก็จบนะครับพี่น้อง

เศียรแรก คือเศียรพระพิฆเนศ ของครูหน่อย  พอสังเกตอย่างละเอียดจึงเห็นว่า ลายเส้นบนใบหน้าปู่พิฆเนศนั้น เป็นสีชมพู และมีต่างหูมุกประดับอยู่อีกด้วย ซึ่งแปลกตากว่าที่เคย
ซึ่งครูแต่ละท่านก็จะมีเอกลักษณ์ในการปั้นหน้าให้แสดงอารมณ์ออกมาแตกต่างกัน มากบ้างน้อยบ้าง

สำหรับเศียรนี้ป้าชูขออนุญาต สื่อสารออกมาให้ปู่พิฆเนศใจดี ยิ้มแย้ม นุ่มนวล

ถ้าภาพสื่อสารผิด ต้องกราบขออภัยครูหน่อยมา ณ ที่นี้ ด้วยนะครับ

แสงแข็งที่สาดส่องมากระทบเศียรโดยตรงนั้น ย่อมส่งผลให้ความนุ่มนวลนั้นหายไป

จึงมีความจำเป็นต้องเลือกถ่ายในจุดที่โดนแสงไม่มาก นั่นคือด้านข้างของเศียร

เรายอมให้แสงแข็งกระทบเข้าทางด้านหน้าเท่านั้นให้เป็นขอบริมไลท์ เพื่อใช้เป็นเส้นแสงตัดกับฉากหลัง ทำให้ความรู้สึกคนดูรู้สึกว่า ภาพนั้นลอยออกมาจากฉากหลัง

กรณีนี้ จะต้องเลือกฉากหลังที่มีความสว่างน้อยกว่าตัวแบบที่เราถ่าย มิติภาพจึงจะเห็นได้ง่ายกว่าปกติ

เมื่อเลือกวางแสงได้แล้ว การวางอารมณ์ภาพ เนี่ยแหละสำคัญ

ขอสิครับ ขอปู่เลย ปู่อยากได้ภาพแบบไหนเดี๋ยวปู่ก็จัดให้ตามนั้นแหละ

ไม่ว่าจะหมุนด้านไหน อารมณ์ภาพก็มาแบบเดียวกันนั่นแหละ อันนี้เป็นวิธีคิดแบบป้าชูนะครับ ใครเชื่อก็ลองไปใช้ดู ใครไม่เชื่อก็ปล่อยผ่าน

ส่วนตัวแล้วการถ่ายภาพเศียรโขนสำหรับป้าชูนั้น จะสักแต่ว่าถ่ายไม่ได้เลย ต้องตั้งจิตขอก่อนทุกครั้ง ยิ่งเศียรปู่พิฆเนศ และยิ่งมาตีความแบบนี้อีก ถ้าปู่อนุญาตก็ได้ภาพ ถ้าไม่อนุญาตก็ตัวใครตัวมัน(เป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ)

ปล.หลังจากลงบทความนี้คุณครูก็ได้เข้ามาคอมเมนท์บทความนี้ ทำให้รู้ว่า การตีความที่ไม่ผิดพลาดมีผลต่อภาพจริงๆ ขออนุญาตนำข้อความลงนะครับครู

พรุ่งนี้จะคุยเรื่องพญาครุฑ มีแนวคิดในการถ่ายยังไง  โปรดติดตามต่อนะครับ