Skip to main content

คิดต่าง อย่างป้าชู ตอน 70

ฝึกถ่ายขาวดำแบบป้าชู ตอน เบื้องหลัง คอร์สเรียนถ่ายขาวดำกับป้าชู 5 กค.63 EP.1 เรื่อง ลายเส้นไทย

สมัยป้าชูเด็กๆ จะต้องเรียนวิชาวาดเขียน หนึ่งในหัวข้อที่ต้องเรียนคือเรื่อง ลายไทย สมัยนั้น หาดูได้จากในหนังสือเป็นหลัก หากอยากดูของจริงต้องเข้าวัด ไปดูตามผนังภายในโบสถ์ หรือไม่ก็ต้องเป็นพวกบานประตู ซึ่งถ้าไม่ใช่วัดสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็อย่าหวังว่าจะได้เห็นลวดลายอันวิจิตร เราจะเห็นลายเส้นธรรมดาๆ ซึ่งบางครั้งจะเรียกว่าไม่สวยก็ยังได้

ที่ต้องบอกแบบนี้ เพราะศิลปะโบราณนั้นวิจิตร งดงามมากๆ ในสมัยปัจจุบัน ครูช่างเก่งๆ เริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

ไม่ต้องอะไรมากเลย เรื่องที่ใกล้ตัวป้าชูมากที่สุดนั่นก็คือเรื่อง เศียรโขน

ในอดีต จะสร้างเศียรขึ้นมาซักเศียรนึง ไม่ต้องเศียรครูก็ได้ เป็นแค่เศียรครูโขนครูละคอน ไม่ว่าเศียรไหนก็ตามขั้นตอนการสร้างนั้นซับซ้อนมากมาย

เริ่มตั้งแต่ปั้นหุ่น ขึ้นมาเป็นพิมพ์

เอากระดาษสาโบราณมาปิดทับที่หุ่นแม่พิมพ์

แกะออกจากพิมพ์แล้วก็ต้องใช้ขี้เลื่อยผสมแป้งเปียกสูตรโบราณพอกและปั้นขึ้นรูปโครงใบหน้าของเศียร

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ก็ต้องใช้ ดินปั้นแล้วค่อยแกะพิมพ์ลวดลาย ซึ่งขนาดนั้นเล็กมากๆ ติดเข้าไปบนเศียร ถ้านับชิ้นเล่นๆ ไม่น่าจะต่ำกว่า 500 ชิ้น

ส่วนเศียรไหนต้องมียอดชฎาก็ต้องแกะจากไม้สักให้เป็นลวดลายอันวิจิตร

กว่าจะเป็นรูปเป็นโครงให้เราเห็นก็ผ่านขั้นตอนมามากมาย นี่ยังไม่รวมถึงขั้นตอนลงรักปิดทอง ปิดกระจก เขียนลวดลายให้ครบเลยนะ

รู้มั้ยขั้นตอนในปัจจุบันเค้าทำกันง่ายมาก หล่อพิมพ์ขึ้นมาเลย แล้วค่อยมาวาดลวดลายเอาทีหลัง โห ความงาม มันลดลงมหาศาล

ข้อดีอย่างเดียวคือ สมัยนี้ทุกเศียรขนาดเท่ากันเป๊ะ เพราะปั๊มพ์พิมพ์เอา แต่เศียรในอดีต มีบิดมีเบี้ยวไม่เท่ากันในแต่ละเศียร

เสน่ห์ของงานศิลป์ไทยอยู่ตรงนี้แหละ ในความไม่สมบูรณ์แบบมันคือความงดงามที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างแท้จริง

เล่ามาซะยาว ก็เพื่อจะบอกว่า ภารกิจป้าชูที่ตั้งใจไว้ก็คือ จะขอถ่ายทอดจินตนาการของครูช่างในอดีตเรื่องลายเส้นไทย มาเป็นภาพนิ่ง ด้วยการตีความของป้าชูที่จะพยายามเข้าใจให้ถึงความต้องการของครูช่างแต่ละท่านว่าต้องการสื่อสารภาพลายเส้นไทยให้ออกมาเป็นยังไง ค่อยๆ ติดตามกันไปนะครับ