สรุปต้องเปลี่ยนเป็น D200 พร้อมเลนส์อีกชุดใหญ่
แค่ไม่กี่วัน ซื้อมาขายไป เวียนไปเวียนมา หมดไปสองแสน
กลับบ้านแบบงงๆ เอามือคลำบนหัวเหมือนเขามันงอกได้ยังไงก็ไม่รู้
เพราะตอนเช้ามาถ่ายอีกทีภาพมันก็เบลอเหมือนเดิม
ทีนี้เริ่มรู้ละ ที่ถ่ายไม่ได้ไม่ใช่เพราะกล้องละ เรานี่แหละถ่ายรูปไม่เป็น
ทีนี้เริ่มซื้อหนังสือถ่ายรูปที่มีในท้องตลาดเรียกว่ากว้านซื้อมันทุกเล่ม
ที่เป็นภาษาไทยนี่ยังไม่นับที่เป็นตำราเมืองนอกอีกด้วยนะ นั่งอ่านทุกเล่ม
สรุปว่า งงมันตั้งแต่เรื่องรูรับแสง สปีด และอื่นๆ อีกมากมาย
ทุกเล่มอธิบายดีมาก อ่านแล้วไม่เข้าใจ
ลองโทรไปสมัครเรียนที่เค้าเปิดสอน แต่ขอเป็นคอร์สที่เป็นส่วนตัว
เน้นเรื่องถ่ายเด็กโดยไม่ใช้แฟลช ทุกที่บอกว่าต้องเรียนเบสิคก่อน
ไอ้เราก็ดื้อ ถือว่ามีเงินก็เอาแต่ใจ จะเรียนแบบที่เราต้องการ
อาจารย์แต่ละท่านก็ไม่ยอมรับสอน
สุดท้ายเราก็ดื้อ เริ่มฝึกเอง และเริ่มถามพี่ๆ น้องๆ ที่เป็นช่างภาพ
คนที่ทำให้ป้าชูมีจุดยืนในการถ่ายภาพสไตล์นี้คือน้องโย
เค้าเป็นคนบอกว่า ถ้าถ่ายเด็กแล้ววัดแสงแบบแมนนวลและ
ไม่ใช้แฟลชได้ถือว่าเป็นยอดฝีมือ
แค่นั้นแหละ ในหัวไม่คิดแล้วว่าถ่ายสวยเป็นยังไงรู้อย่างเดียว
ถ่ายยังไงก็ได้ห้ามใช้แฟลชเพราะคำๆ เดียว "ยอดฝีมือ"
แต่การได้เป็นยอดฝีมือมันไม่ง่ายเหมือนที่คิดเลย
แค่ถ่ายเจไดให้อยู่ในภาพยังลำบากเลย พอเจไดอยู่ในภาพ
ก็ดันไม่ชัด
ด้วยนิสัยที่ดื้อไม่ยอมแพ้เป็นทุนเดิม ที่สำคัญกลัวโดนเมียด่า
เสียเงินไปสองแสนกว่าแต่ผ่านมาเป็นเดือนแล้วยังถ่ายรูปไม่ได้เรื่อง
อายมาก เลยต้องฝึกทำมันทุกวัน
แบกหนังสือกล้องไปอ่านทุกวันค่อยๆ ทำความเข้าใจไปทีละส่วนๆ
เริ่มจากการทำซ้ำๆ ในที่ๆ เดิม เวลาเดิมๆ แอคชั่นเดิมๆ
เวลาเราทำอะไรซ้ำๆ บ่อยๆ เราจะเริ่มชิน เริ่มเดาทางของเจไดได้ว่า
จากมุมนี้แล้วจะหนีไปมุมไหน
ภาพเจไดเริ่มอยู่ในเฟรมบ่อยขึ้น จน จับภาพเจไดได้ทุกครั้ง
จากภาพไม่ค่อยชัดก็เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ จากแสงที่ถ่ายไม่ค่อยได้
ก็เริ่มถ่ายได้ จากภาพที่ไม่สวยเลยเริ่มดูได้และเริ่มสวยขึ้นตามลำดับ
และที่สำคัญ ภาพเกือบทุกภาพมันเป็นภาพซ้ำๆ มุมเดิมๆ
ที่เริ่มสวยขึ้นทุกวันๆ จนวันนึงแค่ยกกล้องก็รู้แล้วว่าจะกดชัตเตอร์
ยังไงให้มันสวย
และนั่นคือที่มาของป้าชูสไตล์ในวันนี้